"ดร.ดิเรก"ประกาศยกเลิกรับรองหลักสูตรป.บัณฑิต ย้ำไม่ให้สถาบันผลิตหลักสูตรป.บัณฑิตรุ่นใหม่อีก เหตุคุรุสภาควบคุมคุณภาพได้ยาก มีผลตั้งแต่บัดนี้
ดร.ดิเรก พรสีมา ประธานคณะกรรมการคุรุสภา กล่าวภายหลังประชุมคณะกรรมการคุรุสภาว่า ที่ประชุมยังมีมติยกเลิกการให้การรับรองหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต(ป.บัณฑิต) โดยให้มีผลตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ดังนั้นสถาบันผลิตครูที่เคยส่งหลักสูตรมาให้การรับรอง และคุรุสภาให้การรับรองไปแล้ว ทางคุรุสภายกเลิกไม่ให้การรับรองต่อไป
แต่จะไม่กระทบต่อนักศึกษาหลักสูตรป.บัณฑิต ที่กำลังเรียนอยู่ในขณะนี้และยังไม่จบ แต่ไม่ให้สถาบันผลิตครูรับหลักสูตรป.บัณฑิตรุ่นใหม่อีก เนื่องจากเห็นว่าขณะนี้มีผู้จบการศึกษาผู้มีใบอนุญาตฯพอแล้ว และคุรุสภาควบคุมคุณภาพสถาบันผลิตครูได้ลำบาก เพราะสถาบันผลิตครูบางแห่งบริหารหลักสูตรได้มีคุณภาพ แต่บางแห่งไม่บริหารหลักสูตรให้เป็นไปตามที่เสนอต่อคุรุสภา ทำให้หลายหน่วยงานบ่นเรื่องคุณภาพของหลักสูตรป.บัณฑิต อีกทั้งผลวิจัยของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม พบว่าผู้เรียนหลักสูตรป.บัณฑิตคุณภาพต่ำกว่าผู้เรียนหลักสูตรครู 5 ปี
"ส่วนสถาบันอาชีวศึกษาหรือสถาบันการศึกษาอื่นๆที่จำเป็นต้องใช้ครูซึ่งไม่ได้จบด้านการศึกษาหรือสายช่าง ถ้าจำเป็นต้องอบรมเพื่อให้ได้ใบอนุญาตฯทางคุรสภาจะประสานงานกับหน่วยงานเหล่านั้นเพื่อประสานกับสถาบันผลิตครูเพื่อจัดอบรมเป็นรายสถาบันรายกรณีไป"ดร.ดิเรก ระบุ
รวมทั้งที่ประชุมยังมีมติยกเลิกหลักสูตรการฝึกอบรมตามมาตรฐานวิชาชีพครู เช่น ครูมี 9 มาตรฐาน ซึ่งการอบรมมาตรฐานละ 20 ชั่วโมง ก็มาขอใบอนุญาตฯแต่ไม่กระทบผู้ที่เรียนอยู่ในขณะนี้ แต่ไม่ให้สถาบันผลิตครูเปิดรับนักศึกษาใหม่ เพื่อควบคุมคุณภาพและมาตรฐานวิชาชีพครูสูงขึ้น สอดรับการปฏิรูปการศึกษารอบสองที่ต้องการพัฒนาคุณภาพครู
ที่ประชุมมีมติให้ปรับปรุงมาตรฐานวิชาชีพครู ซึ่งปัจจุบันมาตรฐานวิชาชีพครูมี 9 มาตรฐาน ผู้บริหารและศึกษานิเทศก์มี 10 มาตรฐาน จะเพิ่มมาตรฐานวิชาชีพเข้าไปอีก 1มาตรฐานในทุกกลุ่ม โดยเพิ่มมาตรฐานความรู้ในวิชาที่ครูจะสอน หากเป็นครูระดับปฐมวัยจะเพิ่มมาตรฐานความรู้เน้นจิตวิทยาสำหรับเด็ก การดูแลช่วยเหลือเด็ก การพัฒนาเด็กได้อย่างสมวัย ครูระดับประถมจะเพิ่มความรู้และเทคนิควิธีในกลุ่มสาระที่ครูต้องสอนในระดับประถมศึกษา ครูระดับมัธยมจะเพิ่มความรู้เนื้อหาวิชาทีครูจะไปสอน หากสอนวิชาเช่นฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ ก็จะต้องมีความรู้ในวิชาเหล่านี้ จะต้องเพิ่มเข้าไปในมาตรฐานความรู้วิชาชีพ
ทั้งนี้ เมื่อปรับปรุงมาตรฐานความรู้วิชาชีพครู การให้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู จะต้องเปลี่ยนไปจากเดิมซึ่งแต่เดิมครูมีใบอนุญาตฯใบเดียวสอนได้ทั้งระดับปฐมวัย ประถมและมัธยม หรือจะสอนวิชาต่างๆเช่น ฟิสิกส์ เคมีก็ได้ ดังนั้น ต่อไปการออกใบอนุญาตฯจะเปลี่ยนไปโดยจะแยกออกเป็นใบอนุญาตฯครูปฐมวัย ใบอนุญาตครูประถม ใบอนุญาตครูมัธยมโดยใบอนุญาตครูระดับม.ปลายจะแบ่งออกเป็นใบอนุญาตครูสอนวิชาฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ ส่วนครูอาชีวศึกษาจะแยกออกเป็นใบอนุญาตครูผู้สอนตามสาขาวิชาเช่น วิชาช่าง เกษตร บริหาร
"เมื่อสถาบันผลิตครูไปปรับปรุงได้ตามมาตรฐานแล้ว จะรับรองหลักสูตรของสถาบันผลิตครู แต่ไม่ได้หมายความว่าจะให้ใบอนุญาตแก่บัณฑิตที่เรียนจบหลักสูตรที่คุรุสภารับรอง ผู้ที่จะขอขึ้นทะเบียนใบอนุญาตใหม่ ไม่ใช่ครูที่สอนอยู่แล้วจะต้องมาสอบข้อสอบของคุรุสภาโดยเปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษาชั้นปีที่ 3-5 ที่เรียนหลักสูตรคุรุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์หลักสูตร 5 ปีมาสอบ ซึ่งนิสิต นักศึกษาที่จะมาสอบเพื่อขอใบอนุญาตฯ จะต้องมาสอบขอใบอนุญาตในสาขาวิชาที่เรียน เช่น เรียนเป็นครูสอนวิชาฟิสิกส์ ก็ต้องมาสอบขอใบอนุญาตฯครูสอนวิชาฟิสิกส์ หากจะสอบขอใบอนุญาตฯวิชาอื่นเช่น เคมี ก็ต้องไปอบรมเพิ่มเติม ตามเกณฑ์คุรุสภาแล้วนำหลักฐานการอบรมมายื่นขอสอบ"ดร.ดิเรก กล่าว
ประธานคณะกรรมการคุรุสภา กล่าวว่า คุรุสภาจะแปลงคะแนนข้อสอบเป็นคะแนนมาตรฐาน หากได้ต่ำกว่าเกณฑ์ที่คุรุสภากำหนด ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการกำหนดเกณฑ์ บัณฑิตคนนั้นจะไม่ได้ใบอนุญาตฯ แต่สามารถมาสอบใหม่ได้โดยเบื้องต้นเท่าที่หารือกัน อาจจะให้สอบได้ปีละ 2-3 ครั้ง โดยใช้ปริญญาและคะแนนสอบมาขอใบอนุญาตกับคุรุสภาได้ คุรุสภาได้หารือกับสภาคณบดีคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ให้ปรับมาตรฐานความรู้วิชาชีพครูและหาหน่วยงานมาจัดทำข้อสอบและจัดระดับความยากง่ายโดยทำเป็นข้อสอบมาตรฐานและใส่ไว้ในคลังข้อสอบและใช้คอมพิวเตอร์บริหารข้อสอบ เนื่องจากจะเปิดสอบผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยตั้งเป้าว่าจะนำร่องการสอบในปี 2555 และตนจะเสนอคณะกรรมการคุรุสภาให้ใช้จริงอย่างช้าในปี 2557 เพราะหากเริ่มใช้ในปี 2554 เร็วเกินไป
ดร.ดิเรก กล่าวว่า ส่วนครูเก่าที่สอนอยู่ในปัจจุบันและมีใบอนุญาตฯอยู่แล้วซึ่งใบอนุญาตฯจะหมดอายุในเดือนธันวาคม 2557 และจะต้องมาขอต่อใบอนุญาตฯใหม่นั้น ที่ประชุมหารือกันแล้วเสียงแตกเพราะเกรงผลกระทบโดยเบื้องต้นมีการเสนอว่ายังไม่ควรให้ครูเก่าต้องสอบ แต่การให้ใบอนุญาตฯจะต้องมีการแบ่งใบอนุญาตฯเป็นระดับปฐมวัย ระดับประถม ระดับมัธยมซึ่งครูม.ต้นจะแบ่งครูสอนวิชาต่างๆเช่น ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ส่วนครูม.ปลายแบ่งเป็นครูสอนวิชาต่างๆเช่น ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา อย่างไรก็ตาม ครู 1 คนมีใบอนุญาตฯสอนได้หลายวิชาแต่ต้องมีความรู้ตามมาตรฐานที่คุรุสภากำหนดไว้
ครูเก่าจะต้องนำหลักฐานการอบรมความรู้เพิ่มเติมย้อนหลัง 3 ปีมายื่นขอใบอนุญาตฯ เช่น ครูที่จบสาขาพลศึกษาแต่สอนฟิสิกส์มา 5 ปีและมีใบอนุญาตฯอยู่แล้ว ก็ต้องอบรมเพิ่มเติมโดยเบื้องต้นเท่าที่หารือกันควรอบรมความรู้เพิ่มเติมในวิชานั้นๆ 15 ชั่วโมง หากคุณสมบัติไม่ผ่านเกณฑ์ก็จะให้เวลาในการพัฒนาความรู้แล้วมายื่นขอใบอนุญาตฯใหม่ ส่วนครูในโรงเรียนขนาดเล็กซึ่งครูคนเดียวสอนหลายวิชาและหลายระดับชั้นนั้นไม่มีปัญหาเพราะเป็นครูสอนระดับประถมใช้ใบอนุญาตฯครูระดับประถมเท่านั้น
"สาเหตุที่ต้องเปลี่ยนแปลงการให้ใบอนุญาตฯเพราะปัจจุบันครูมีใบอนุญาตฯใบเดียว ไม่สามารถให้หลักประกันได้ว่าผู้รับบริการจากครูจะได้รับบริการที่ดี มีคุณภาพ จึงต้องแยกใบอนุญาตออกเป็นกลุ่มๆ เพื่อให้ผู้รับบริการได้มั่นใจเช่น พ่อแม่ส่งลูกเข้าเรียนอนุบาลก็จะได้มั่นใจในคุณภาพครู "ดร.ดิเรก กล่าว
ดร.ดิเรก กล่าวว่า ขณะเดียวกันการให้ใบอนุญาตฯในกลุ่มนิสิต นักศึกษาครูโดยใช้วิธีสอบนั้นมีข้อดีโดยข้อสอบจะบอกถึงสมรรถนะคุณภาพของนิสิต นักศึกษา ช่วยยกระดับคุณภาพของคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ และเด็กสามารถเลือกได้ว่าจะเข้าเรียนที่ไหน ส่วนครูเก่านั้นก็เท่ากับเป็นการช่วยให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ปรับระบบบริหารงานบุคคลจัดครูผู้สอนให้ตรงกับความรู้ที่จบมา
ที่มา : http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/education/20100819/348792/%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%A3%E0%B8%B8%E0%B8%AA%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A8%E0%B8%A2%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%AA%E0%B8%B9%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%9B.%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%93%E0%B8%91%E0%B8%B4%E0%B8%95.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น